มาตรา 44 จะนำมาล้างบางกระทรวงศึกษาฯ
การศึกษา-สาธารณสุข : 23 มี.ค. 2559
ม.44 ล้างบางกระทรวงศึกษาฯ : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ โต๊ะการศึกษารายงาน
ส่งสัญญาณมาตลอดว่า…จะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาแก้ไขปัญหาระบบบริหารงานบุคคล รวมถึงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะด้วยระยะเวลาของรัฐบาลที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1 ปี 6 เดือน หากจะให้รอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบ กฎหมาย หรือข้อบังคับ จะไม่ทันกาล
ดังนั้น ค่ำวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้โอนอำนาจหน้าที่ไปให้ กศจ.จังหวัด
พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด “กศจ.” มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการการศึกษาจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อกศจ.” มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นประธาน และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 18 ภาค ทำหน้าที่แทนอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ประถมศึกษา และอ.กค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มัธยมศึกษา และให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัด 77 จังหวัดด้วย
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ อธิบายถึงเหตุผลที่เสนอใช้มาตรา 44 ว่า “4 เหตุผลหลักของการใช้ มาตรา 44 ครั้งนี้ คือ 1.การบูรณการระดับพื้นที่/ภูมิภาค 2.ลดช่องว่างการบังคับบัญชา 3.ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา และ 4.ความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ซึ่งต้องการให้มีผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาระหว่างที่รัฐบาลเหลือเวลาอีก 1 ปีครึ่งในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการบริหารบุคคล ทั้งบรรจุครู อนุมัติย้ายข้ามเขต หรือลงโทษวินัยเหล่านี้มีเรื่องค้างอยู่อีกกว่า 100 คดีจะต้องผ่านอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นวงที่แคบ แต่จากนี้จะทำในวงที่ใหญ่ขึ้นเพราะมองในภาพกว้างระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จะทำให้มีทางเลือกที่จะคัดเลือกครู ผู้บริหารโรงเรียนได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้กระชับ คล่องตัวขึ้น
ในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่รูปแบบกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ฯ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน ทั้งวิชาการ บุคลากร แต่ในรัฐบาลยุคปัจจุบันที่มองว่าการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ดูจะเป็นหนทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด เห็นได้เริ่มจากการจัดการกลุ่มมีอิทธิพล และหากจะจัดระบบระเบียบประเทศให้ดี ก็ต้องจัดระบบระเบียบของ ศธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานมีกำลังคนมากสุด มีปัญหาทุจริตไม่น้อยเช่นกัน
พล.อ.ดาว์พงษ์ ย้ำชัดว่า “ไม่ได้มองว่าการกระจายอำนาจไม่ดี แต่ต้องมามองปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่าคืออะไร การกระจายอำนาจควรจะทำเมื่อมีความพร้อมและต้องไม่ใช้เวลาเป็นเงื่อนไข เพราะฉะนั้น แม้จะมองว่าการรวบอำนาจและให้ กศจ.มาทำหน้าที่แทน เป็นการถอยหลังแต่ผมมองว่าเมื่อที่ทำอยู่ยังไม่มีอะไรดี มีแต่จะเลวลง ทำไมไม่ไปดูของเดิมว่ามีจุดดีอย่างไร ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เกิดเสียงเรียกร้องของคนในกระทรวงทั้งสิ้น ไม่ได้คิดเองคนเดียว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าครูและบุคลากรทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้”
ขณะที่นักวิชาการ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า นับว่ารัฐบาลใช้ยาแรง และเป็นความกล้าตัดสินใจของ พล.อ.ดาว์พงษ์ เพื่อสร้างเอกภาพในศธ. เนื่องจากที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ของศธ.ทั้ง 5 องค์กรหลักต่างคนต่างทำงาน ปัญหาการโยกย้ายครูที่ทำไม่ได้ และในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาจะต้องใช้คำสั่งมาตรา 44 ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกึ่งเผด็จการ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดผลทันที ถือเป็นการปฏิวัติเงียบในศธ. และถือว่าเป็นการปรับที่ไปสู่โครงสร้างเดิมเกือบ 80% ที่แตกต่างคือการมีประชารัฐ ให้ภาคเอกชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และการให้จังหวัดจัดการตนเองแต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย
ศ.ดร.สมพงษ์ แสดงความเป็นห่วงด้วยว่า หากในอนาคตมี รมว.ศึกษาธิการ ที่มาจากนักการเมือง บอกได้เลยว่า อันตราย อาจเกิดปัญหาวิ่งเต้นโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งสายบังคับบัญชาจากกระทรวงกว่าจะถึงโรงเรียนมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และโรงเรียน อยากขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ใช้มาตรา 44 ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และวางระบบการบริหารบุคคลที่ดี โดยคืนอำนาจให้แก่จังหวัดและพื้นที่โดยเร็ว
ในฟากของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมนามประชารัฐ อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มองว่า ไม่ทราบระบบการบริหารงานของ ศธ.ชัดเจนนัก แต่ที่ผ่านมาก็เคยได้ยินข่าวในเชิงไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษามาบ้าง ดังนั้นหากเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ครูและคนส่วนใหญ่รู้สึกพอใจก็เป็นเรื่องดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจทำให้ภาคเอกชนเกิดความสับสนบ้าง
“งงเพราะเห็นระบบการบริหารจัดการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ถามความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลนี้เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ดังนั้นต้องให้เวลาสร้างความเข้าใจหากเปลี่ยนแล้วดีขึ้น เชื่อว่าไม่นานก็จะสังคมก็จะเกิดความเชื่อมั่น”
อย่างไรก็ดี แม้ ศธ.จะอ้างเหตุผลในเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน การบริหารจัดการที่คล่องตัว หรือมีเอกภาพมากขึ้น มีโอกาสที่จะได้คัดเลือกครูและผู้บริหารที่มีความสามารถได้มากขึ้นเพราะไม่ต้องรอผ่าน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งว่ากันว่ามีอำนาจล้นฟ้าจนทำให้บางเขตพื้นที่ฯ ใช้อำนาจที่มีไม่ถูกทาง เล่นพรรคเล่นพวกจนทำให้ได้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ไร้ศักยภาพเข้าสู่วงการศึกษา
คำสั่งคสช.ครั้งนี้จึงถือเป็นการล้างกระดานปัญหาเหล่านี้ แต่การกลับมาใช้วิธีรวมศูนย์อีกครั้งให้จังหวัดบริหารจัดการกันเอง ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้ารอดูต่อไปว่าจะดีกว่าของเดิมหรือไม่