ข้อปัญหาของการจัดการศึกษาในระบบไทย

ข้อปัญหาของการจัดการศึกษาในระบบไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน การศึกษาไทยนั้นตกต่ำลงอย่างมาก และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแทบจะกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเหล่าเด็กไทยที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย และปัญหาเหล่านี้ แทบจะเห็นกันอย่างชินชา เช่นปัญหาเหล่านี้

1. คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ
ในการจัดการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-Net) ในทุกๆปีนั้น ผลที่ออกมามักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆปี นั่นก็คือ เด็กไทยมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่เสมอๆ หรือแม้แต่การศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economics Co-operation and Development, OECD) ที่รู้กันในชื่อของ PISA (Programme for International Students Assessment) พบว่านักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้นเอง ทั้งๆที่เราใช้เวลาในการเรียนการสอนมากกว่า 8 ชม. ต่อวัน PISA ยังพบว่า เด็กไทย 74% อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง คือมีตั้งแต่อ่านไม่ออก อ่านแล้วตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก หรือแม้แต่ใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาอื่นๆ แต่เรากลับมองสภาพเหล่านี้ด้วยความเคยชิน และยังคงเชื่อว่าลูกหลานของเราจะต้องได้รับการพัฒนาโดยการจัดการศึกษาแบบเดิมๆอย่างทุกวันนี้

2. ปัญหาของครู
ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงอันดับต้นๆในโลก วิชาชีพที่ประชาชนนิยม และให้การยอมรับนับถือมากที่สุดคือ วิชาชีพครู แต่ในประเทศไทย สังคมกลับเห็นว่าในปัจจุบันวิชาชีพนี้ ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการประกอบอาชีพหมอ หรือวิศวกรตามที่สังคมได้คาดหวัง
ประเทศไทยมีการผลิตครูมากถึงปีละประมาณ 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานเบื้องต้นเกือบหนึ่งหมื่นคน แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังนับว่าขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น ยังพบอีกว่า ไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระ ในทางตรงกันข้ามยังกลับพบมาตรการในเชิงกีดกันอีกด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ที่จะรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ต้องไปเรียนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เป็นต้น

ปัญหาที่เป็นอมตะของครูไทยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เรามีความแตกต่างระหว่างเงินเดือนแรกเข้าทำงานกับเงินเดือนที่พึงได้รับสูงสุดในชีวิตการทำงานถึงเกือบ 10 เท่า ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะพบความแตกต่างเพียง 3-4 เท่า ซึ่งหมายความว่า บุคคลจะได้รับค่าจ้างเมื่อแรกเข้าทำงานสูงมากเพียงพอที่จะยังชีพได้ เมื่อครูไม่ได้รับค่าตอบแทนที่จะสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดแรงจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครูเมื่อครูไม่เก่ง เด็กจะเก่งได้อย่างไร

3. ขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน
ประเทศเราไม่มีแผน และกลไกการกำกับการผลิตกำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาในบางสาขามีมากมายจนล้นงาน จนพบเนืองๆ ว่า ในการรับสมัครงานบางตำแหน่ง มีผู้สมัครหลายหมื่นคนเพื่อแย่งกันเข้าทำงานที่มีการรับเพียงไม่กี่สิบอัตรา แต่บางสาขาวิชากลับขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และทางด้านการแพทย์ เราต้องการให้มีผู้เข้าศึกษาสายอาชีวะประมาณครึ่งหนึ่ง จึงจะทำให้มีกำลังคนเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีผู้เข้าเรียนอาชีวะเพียง 27% ทั้งนี้ นับรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีวะแท้ แต่ไปเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะด้วย เช่น สาขาด้านการบริหาร ซึ่งหมายความว่า หากนับสายช่างจริงๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก กลายเป็นว่าในปัจจุบันเด็กที่เข้าเรียนในการจัดการศึกษาในระบบนั้นมีอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องตกงาน และปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

4. คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีปัญหาเรื่องหาคนเข้าเรียน ทำให้ประสบปัญหาเรื่องความคุ้มทุน นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้านการตลาดทุกวิถีทาง และมุ่งเปิดสอนแต่สาขาวิชาที่ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้เงินเร็ว ซึ่งระบาดไปทุกระดับชั้นปริญญา เรามีบัณฑิตล้นงานในหลายสาขา แต่ขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนในสาขาวิชาที่ยากๆ มหาวิทยาลัยจำนวนมากมุ่งหาเงินจนเป็นระบบการศึกษาเชิงปริมาณ ความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้ อาจพอเข้าใจได้สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งต้องแบกภาระค่าดำเนินการต่างๆ ด้วยรายได้ที่ต้องหามาเอง
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ได้กระจายเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ในรูปแบบของการเพิ่มจำนวนนักศึกษาโดยตรง หรือการจัดทำเป็นโครงการพิเศษในลักษณะต่างๆ รวมทั้งเปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์การเงินของโครงการเหล่านี้แล้วจะพบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นค่าสอนของอาจารย์ สถานการณ์เช่นนี้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ปริญญาเฟ้อ ทุกระดับชั้นปริญญา กลายเป็นค่านิยมของสังคมที่ต้องเรียนอย่างน้อยถึงปริญญาโท และกำลังจะคุกคามต่อไปถึงปริญญาเอก

5. การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม และปัญหาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
ในปี 2548 อาจารย์อุดมศึกษาไทยรวมประมาณ 50,000 คน ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพียง ประมาณ 2,000 ฉบับ ในจำนวนนี้ 90% เกิดมาจากมหาวิทยาลัยเพียง 8 แห่ง ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยที่เหลืออีกร้อยกว่ามหาวิทยาลัยตีพิมพ์เพียง 10% เท่านั้นเอง แต่ถ้าดูในรายละเอียด ยังพบว่าแม้ในมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์มากที่สุดรวม 8 แห่งนี้ เมื่อเฉลี่ยตามจำนวนอาจารย์แล้ว มีการตีพิมพ์เพียงคนละ 0.12 บทความเท่านั้นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจารย์ของเขาจะตีพิมพ์คนละไม่ต่ำกว่า 2 ฉบับต่อปี มากกว่าที่ดีที่สุดของเราถึง 20 เท่า
ในภาพรวมการตีพิมพ์ของอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 200,000 ฉบับ ญี่ปุ่น 50,000 ฉบับ สหราชอาณาจักร 40,000 จีน 12,000 อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ประมาณ 10,000 ฉบับ เป็นต้น ข้อมูลเช่นนี้ชี้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของเราอ่อนด้อยในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากเราไม่มีการวิจัย เราก็จะขาดทุนทางปัญญา ในโลกยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เมื่อประเทศเราขาดงานวิจัย เราจึงเสียเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้ เกิดมาจากที่ระบบการศึกษาที่มีความอ่อนแอด้านการวิจัย

 

ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาคาราคาซังที่ส่งผลต่อประเทศชาติมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการพัฒนาในด้านที่ดีขึ้นแต่อย่างไร หนำซ้ำผู้ที่ได้รับปัญหาโดยตรงที่สุดคือเยาวชนไทยที่จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยังเป็นปัญหาเหล่านี้อยู่ทุกปี และปลายทางของพวกเค้าก็คือความล้มเหลวอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้นในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ากำลังพัฒนา ทั้งๆที่จริงแล้วนั้นเยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครองต่างคาดหวังว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตของเด็กและเยาวชน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาดูว่า เมื่อเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว เรายังจะเลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย หรือเลือกที่จะจัดการศึกษาด้วยตนเองให้มีประสิทธิภาพแทน

อ้างอิง
http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538672107

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save